การดูแลไม้กระถาง

แนะนำพันธุ์ไม้ Colocasia esculenta ‘Hilo Beauty’

แนะนำพันธุ์ไม้ Colocasia esculenta ‘Hilo Beauty’

Colocasia esculenta 'Hilo Beauty' (บอนเสือพราน)

บอนเสือพราน (Colocasia ‘Hilo Beauty’) เป็นไม้จำพวกบอน (Colocasia esculenta) มีถิ่นกำเนิดดั่งเดิมจากเขตเอเชียใต้ไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใบมีสีสันสดใสสลับลายด้วยสีเขียวอ่อนและสีเหลืองคล้ายกับชุดลายพรางของทหาร ความยาวของใบเมื่อโตเต็มที่สามารถยาวได้ถึง 40 ซม. และความสูงของต้นเมื่อโตเต็มที่ 60-90 ซม. (ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม) ชอบแสงแบบรำไร สามารถวางไว้ตามชานบ้านหรือในบ้านบริเวณใกล้หน้าต่าง

ข้อมูลเบื้องต้น การดูแลรักษา

  • แสงสว่าง ☀️ : ชอบสภาพแวดล้อมที่สว่างเนื่องจากแสงสว่างจะทำให้ใบของบอนเสือพรานมีสีสันที่สดใส อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงแดดจัดโดยตรง เพราะอาจทำให้ใบไหม้ได้ค่ะ
  • อุณหภูมิ 🌡: 18 – 30 องศาเซลเซียส (C)
  • การให้น้ำ 💧 : ชอบความชื้นแต่ไม่ชอบแฉะ รดน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ (รดน้ำเมื่อผิวหน้าดินแห้ง) หลีกเลี่ยงน้ำขังที่บริเวณจานรองกระถางเพื่อป้องกันรากเน่า
  • ความชื้น 💦 : เป็นไม้ที่ชอบความชื้นในอากาศประมาณ 65 – 75% สามารถปลูกในห้องครัว ห้องน้ำ หรือในสวนร่วมกับต้นไม้อื่นๆเพื่ออิงความชื้นกันจะทำให้ต้นไม้แข็งแรงสมบูรณ์ และมีใบที่เงางามค่ะ หากเราปลูกในบ้าน อาจช่วยเพิ่มความชื้นรอบต้นได้ด้วยการวางบนจานรองกระถางที่ใส่เม็ดดินเผาและน้ำไว้ หรือวางไว้ใกล้กับเครื่องทำความชื้นค่ะ
  • ปุ๋ย 🌱 : สามารถให้ปุ๋ยชนิดเม็ดละลายช้าทุก 3 เดือน และให้ปุ๋ยชนิดผสมน้ำรดลงที่ดินปลูกทุกๆ 2-3 สัปดาห์ (ควรระวังไม่ให้ปุ๋ยโดนใบเพื่อป้องกันใบไหม้จากสารเคมี)
  • วัสดุปลูก 🪵 : ควรเลือกใช้วัสดุปลูกที่โปร่งและเก็บความชื้นได้ดียกตัวอย่างเช่น เปลือกไม้ เพอไลท์เมล็ดหยาบ และพีทมอส

ข้อควรรู้

  • พืชชนิดนี้สามารถก่ออาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารหากรับประทานเข้าไป ผู้ปลูกเลี้ยงที่มีเด็กและสัตว์เลี้ยงจึงควรระมัดระวังค่ะ

แชร์หน้านี้
Posted by Pete Ongsuwan in การดูแลต้นไม้
ทำไม… อโลคาเซีย (Alocasia) ถึงใบเหลือง !?

ทำไม… อโลคาเซีย (Alocasia) ถึงใบเหลือง !?

เกี่ยวกับพืชในกลุ่ม อโลคาเซีย

พืชในกลุ่มอโลคาเซียเป็นไม้ที่พบได้ในธรรมชาติแถบเอเชียและออสเตรเลีย มักขึ้นในป่าดิบชื้นหรือตามริมแหล่งน้ำ เป็นพืชที่มีลักษณะและลวดลายของใบที่สวยงาม โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ยกตัวอย่างพืชกลุ่มอโลคาเซีย อาทิเช่น แก้วสารพัดนึก (Alocasia amazonica ‘Dwarf’) อโลคาเซียม้าลาย (Alocasia ‘Zebrina’) อโลคาเซียหูช้าง (Alocasia ‘Sarian’) อโลคาเซียหางกระเบน (Alocasia ‘Stingray’) เป็นต้น

ด้วยความสวยงามนี้จึงครองใจนักปลูกไม้ใบหลายๆท่าน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะดูแลเป็นอย่างดีแต่เราก็มักพบว่าพืชตระกูลนี้มักจะมีอาการใบเหลืองอยู่เป็นประจำ ในบทความนี้เราจะมาอธิบายถึงสาเหตุที่ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองในพืชกลุ่มอโลคาเซียกันค่ะ

1. อายุของใบ

สาเหตุอันดับต้นๆของอาการใบเหลืองโดยทั่วๆไปคือการผลัดใบแก่ทิ้งไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามปกติเมื่อต้นไม้มีอายุมากขึ้น และไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ

2. การได้รับน้ำที่มากเกินไป

อาการใบเหลืองในพืชกลุ่มอโลคาเซียโดยส่วนใหญ่มักมาจากการได้รับน้ำที่มากเกินไป ถึงแม้ว่าอโลคาเซียจะเป็นพืชที่ชอบความชื้นแต่หากเรารดน้ำมากเกินไปจนวัสดุปลูกชื้นแฉะและมีน้ำขังก็อาจทำให้รากเน่าได้ ซึ่งการที่ใบกลายเป็นสีเหลือง-น้ำตาลกระจายไปทั่วใบเป็นอาการบ่งชี้ในระยะเริ่มต้นของโรครากเน่า หากปล่อยไว้จนอาการลุกลามอาจทำให้ต้นไม้ของเราตายได้ค่ะ

ข้อแนะนำ : ควรผสมวัสดุปลูกที่ช่วยเพิ่มความโปร่งให้กับดิน เช่น เพอร์ไลท์, หินภูเขาไฟ และเลือกปลูกในกระถางหรือภาชนะที่มีรูระบายน้ำอย่างเพียงพอ และหมั่นเทน้ำขังในจานรองทิ้งทุกครั้งหลังรดน้ำค่ะ

3. ความชื้นในอากาศที่ไม่เพียงพอ

อโลคาเซียเป็นพืชที่เติบโตได้ดีท่ามกลางความชื้นในอากาศประมาณ 60%-70% ดังนั้นการปลูกเลี้ยงอโลคาเซียในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นต่ำ(น้อยกว่า 50%) อาจเป็นสาเหตุของใบหมอง ไม่เงางามได้ค่ะ

ข้อแนะนำ : เราอาจเปลี่ยนตำแหน่งที่วางต้นอโลคาเซียไปยังที่ๆมีความชื้นเช่น ห้องน้ำ ห้องครัว(ควรคำนึงถึงแสงสว่างในสถานที่นั้นๆด้วยนะคะ) หรืออาจวางไว้ใกล้กับเครื่องพ่นไอน้ำเพื่อเพิ่มความชื้น และอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้คือการวางกระถางบนจานรองที่มีเม็ดดินเผาหล่อน้ำไว้(ระดับของน้ำจะต้องไม่สูงไปกว่าเม็ดดินเผา) เพื่อให้น้ำระเหยขึ้นมาเพิ่มความชื้นให้กับต้นอโลคาเซียของเราค่ะ

4. แสงสว่าง

แสงสว่างเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ใบของพืชในกลุ่มอโลคาเซียเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถึงแม้ว่าอโลคาเซียจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มของพืชที่ชอบแสงแบบรำไรเนื่องจากตามธรรมชาติแล้วเป็นพืชที่เติบโตภายในร่มเงาของต้นไม้ชนิดอื่นๆในป่า แต่การปลูกเลี้ยงภายในบ้านที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอก็มักจะทำให้อโลคาเซียใบเหลืองได้ อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าอโลคาเซียที่เราเลี้ยงใบซีด หมอง ดูไม่สดใส หรือเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเราสามารถแก้ไขได้โดยย้ายต้นอโลคาเซียไปวางใกล้กับหน้าต่างหรือมุมที่สว่างมากขึ้นค่ะ(แต่ต้องไม่โดดแดดจัดส่องโดยตรง เนื่องจากจะเป็นสาเหตุของใบไหม้ได้ค่ะ)

5. อุณหภูมิ

หากอโลคาเซียที่เราเลี้ยงมีใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและดูทรุดโทรม อาจเป็นไปได้ว่าอุณหภูมิในบริเวณที่ปลูกเลี้ยงต่ำเกินไปค่ะ เนื่องจากอโลคาเซียเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในเขตอบอุ่น (18-29c) และไม่สามารถทนต่อความหนาวเย็น(ต่ำกว่า 13c) ฉะนั้นการปลูกเลี้ยงในสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมมักทำให้อโลคาเซียไม่งอกงามเท่าที่ควรค่ะ

ข้อแนะนำ : หลีกเลี่ยงการปลูกเลี้ยงในบริเวณที่มีอุณหภูมิเย็นจัด และหากต้องการย้ายไปยังที่ๆอุณหภูมิสูงขึ้นควรค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิทีละนิดเพื่อให้ต้นอโลคาเซียได้มีการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่ค่ะ

6. การปนเปื้อนของน้ำ

คุณภาพของน้ำส่งผลต่อใบของอโลคาเซียได้เช่นกัน การใช้น้ำที่มีแร่ธาตุมากจนเกินไปหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีมักเป็นสาเหตุของใบจุด ใบเหลือง ปลายใบไหม้ และใบหมอง ดูไม่สดใส

ข้อแนะนำ : เลือกใช้น้ำดื่ม(ที่ไม่ใช่น้ำแร่) น้ำกรอง หรือน้ำฝน หรือหากต้องใช้น้ำประปาแนะนำให้รองใส่ภาชนะที่ไม่ปิดฝา วางทิ้งไว้ 2-3 วันเพื่อให้คลอรีนระเหยออกไปก่อนนำมาใช้งาน

7. แมลงศัตรูพืชรบกวน

แมลงศัตรูพืช สัตว์ที่เป็นต้นเหตุสร้างความเสียหายทำให้ต้นไม้แห้งเหี่ยวและตายได้ สร้างความรำคาญใจแก่นักปลูกต้นไม้หลายๆท่าน แมลงที่มักพบในพืชกลุ่มอโลคาเซียได้แก่ เพลี้ยแป้ง ไรแดง และเพลี้ยอ่อน ซึ่งกลุ่มแมลงเหล่านี้จะคอยดูดน้ำเลี้ยงจากเซลพืชส่งผลให้ใบพืชขาดน้ำและก่อให้เกิดจุดเล็กๆสีขาวหรือสีน้ำตาลบนใบ ใบซีดเหลือง และเกิดอาการใบหงิก เหี่ยวและตายในที่สุด

ข้อแนะนำ : เพื่อเป็นการป้องกันแมลงศัตรูพืช ควรหมั่นเช็ดใบด้วยผ้าชุบน้ำสะอาดอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัดแมลงที่อาจติดมากับฝุ่นละอองต่างๆและคอยหมั่นสังเกตุรอยโรคตามใบ  หากพบว่ามีแมลงรบกวนแนะนำว่าควรแยกต้นที่มีแมลงรบกวนออกจากต้นอื่นๆเพื่อป้องกันการลุกลาม ใช้น้ำสะอาดล้างก้านและใบเพื่อให้แมลงหลุดออกให้ได้มากที่สุดและใช้ผ้าชุบน้ำที่ผสมกับน้ำยาล้างจานอ่อนๆเช็ดให้ทั่วทั้งใบและก้านที่พบแมลง ทำซ้ำทุกๆ 4-6 วัน ทั้งหมด 3-4 ครั้ง จนกว่าแมลงจะถูกกำจัดไปจนหมดค่ะ (วิธีนี้เป็นวิธีเบื้องต้นที่ไม่เป็นพิษต่อที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม)

8. การให้ปุ๋ยมากจนเกินไป (ดินเค็ม)

การที่ต้นอโลคาเซียได้รับปุ๋ยมากจนเกินไปสามารถส่งผลให้ปลายใบและขอบใบไหม้ ใบเหลืองและต้นตายได้ หากเราสงสัยว่าอาการใบเหลืองของต้นอโลคาเซียที่เราปลูกเลี้ยงอาจมีที่มาจากการได้รับปุ๋ยมากจนเกินไป เราสามารถแก้ไขปัญหาดินเค็มเบื้องต้นได้โดยการรดน้ำต้นไม้ของเราให้ดินชุ่มและให้น้ำระบายทิ้งออกทางก้นกระถางเพื่อเจือจางปุ๋ยและแร่ธาตุส่วนเกินในดินทิ้งไป (สามารถทำได้ทุกๆ 1-2 เดือน) และควรเว้นระยะห่างในการให้ปุ๋ยมากขึ้น เช่น จากทุกๆ 2 เดือน เปลียนเป็นทุกๆ 3-4 เดือน และคอยสังเกตุว่าอาการใบเหลืองละใบใหม้ยังคงลุกลามหรือไม่ค่ะ และเราสามารถเลือกใช้ปุ๋ยชนิดเม็ดละลายช้าและใส่ในปริมาณที่น้อยๆก่อน โดยปุ๋ยชนิดนี้จะค่อยๆปล่อยสารอาหารแก่ดินทีละน้อยอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการได้รับปุ๋ยที่มากจนเกินไปค่ะ

ข้อแนะนำ : อโลคาเซียมักมีช่วงพักตัวในฤดูหนาวซึ่งมักจะไม่ต้องการการบำรุงเป็นพิเศษ ผู้ปลูกเลี้ยงสามารถเว้นการให้ปุ๋ยในช่วงนั้นไปก่อนและสามารถให้ปุ๋ยอีกครั้งหลังจากหมดช่วงพักตัวค่ะ


หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกท่านเพื่อเป็นแนวทางในการปลูกเลี้ยงพืชในกลุ่ม Alocasia กันนะคะ แล้วพบกันใหม่กับบทความหน้าค่ะ

SHOPEE LOGOสนใจเข้าชมร้านค้าปลีกของเราใน Shopee 


แชร์หน้านี้
Posted by Ornusa Ongsuwan in การดูแลต้นไม้
แนะนำพันธุ์ไม้ Alocasia macrorrhiza ‘Stingray’

แนะนำพันธุ์ไม้ Alocasia macrorrhiza ‘Stingray’

Alocasia macrorrhiza 'Stingray' (อโลคาเซีย หางกระเบน)

Alocasia Stingray เป็นไม้ใบที่ช่วยฟอกอากาศ มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นเขตร้อนชื้น มีใบที่มีลักษณะสวยสง่าและโดดเด่น ใบมีรูปทรงกลมและมีปลายแหลมยาวลักษณะคล้ายปลากระเบน มีความสูงเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 1-1.2 เมตร เป็นไม้ที่ไม่ต้องการการดูแลมาก ชอบความชื้นแต่ไม่ชอบแฉะ ชอบแสงรำไรค่อนไปทางสว่างแต่ไม่ชอบแดดจัด

ข้อมูลเบื้องต้น การดูแลรักษา

แสงสว่าง ☀️ : ชอบแสงรำไร ชอบความสว่างแต่ไม่ต้องการแดดจัด และไม่ต้องการรับแสงแดดโดยตรง
อุณหภูมิ 🌡: 18 – 22 องศาเซลเซียส (C)
การให้น้ำ 💧 : สามารถรดน้ำทีละน้อยแต่รดบ่อยๆทุกๆ 1-2 วันเพื่อรักษาความชื้นของวัสดุปลูกอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้วัสดุปลูกแห้งจนเกินไปเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงน้ำขังที่บริเวณจานรองกระถางเพื่อป้องกันรากเน่าค่ะ
ความชื้น 💦 : เนื่องจากเป็นไม้ที่ชอบความชื้น การปลูกในห้องน้ำ หรือในสวนร่วมกับต้นไม้อื่นๆเพื่ออิงความชื้นกันจะทำให้ต้นไม้แข็งแรงสมบูรณ์ค่ะ แต่หากเราปลูกในบ้าน อาจช่วยเพิ่มความชื้นรอบต้นได้ด้วยการวางบนจานรองกระถางที่ใส่เม็ดดินเผาและน้ำไว้ หรือวางไว้ใกล้กับเครื่องทำความชื้นค่ะ
ปุ๋ย 🌱 : สามารถให้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าเดือนละ 1 ครั้ง
วัสดุปลูก 🪵 : เลือกวัสดุปลูกที่สามารถเก็บความชื้นแต่ยังสามารถระบายน้ำได้ดี

ข้อควรรู้

  • พืชในกลุ่มอโลคาเซีย มักมีช่วงพักตัว ในระหว่างนั้นใบจะซีดเหลืองและหลุดร่วงไป(ทิ้งใบ) ซึ่งไม่ต้องตกใจ ในช่วงพักตัวต้นอโลคาเซียจะมีความต้องการน้ำที่ลดลง ให้ผู้เลี้ยงเปลี่ยนการรดน้ำมาเป็นรดเมื่อพบว่าดินแห้งแทนค่ะ
  • อโลคาเซียหางกระเบน สามารถก่ออาการระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตาได้ และเป็นไม้ที่เป็นพิษหากรับประทานเข้าไป ผู้ปลูกเลี้ยงที่มีเด็กและสัตว์เลี้ยงจึงควรระมัดระวังค่ะ

แชร์หน้านี้
Posted by Pete Ongsuwan in การดูแลต้นไม้
ดอกหน้าวัว เปลี่ยนสี เกิดจากอะไรได้บ้าง!?

ดอกหน้าวัว เปลี่ยนสี เกิดจากอะไรได้บ้าง!?

ดอกหน้าวัว เปลี่ยนสี เพราะอะไรบ้าง

หน้าวัว (Anthurium andreanum) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบอเมริกาใต้ และสามารถเติบโตได้ดีในภูมิประเทศเขตร้อน มีส่วนของฐานรองดอกที่มีสีสันสดใสคล้ายกับกลีบดอกซึ่งสีดั้งเดิมได้แก่สีแดง เหลือง และชมพู และในปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้มีสีสันที่หลากหลายมากขึ้นเช่น สีขาว สีเขียว ม่วง หรือมีหลากหลายสีในดอกเดียว ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้ปลูกเลี้ยงหลายๆท่านมักมีคำถามว่าเพราะเหตุใดสีของดอกหน้าวัวที่เราดูแลถึ งได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเขียวหรือซีดจางลง วันนี้เรามาไขข้อสงสัยกันค่ะ

1. อายุของดอก

อายุของดอกเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อย โดยปกติแล้วดอกหน้าวัวมักจะมีสีสันสดใสยาวนานกินเวลาร่วมเดือนหากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามเมื่อตัวดอกมีอายุที่มากขึ้น (หลังจากที่ผ่านระยะเวลาหนึ่งเดือนไปแล้ว) สีของดอกมักจะซีดจางลง และอาจมีสีเขียวปรากฏขึ้นซึ่งถือเป็นเรื่องปกติค่ะ

2. การปลูกเลี้ยงในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม

อุณหภูมิ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับสีสันของดอกหน้าวัว อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการปลูกเลี้ยงหน้าวัวจะอยู่ที่ประมาณ 25-32 องศาเซลเซียส และหากเราวางไว้ในที่ๆมีอุณหภูมิสูงกว่านั้น มักจะทำให้สีของดอกซีดจางลงได้ค่ะ

3. การได้รับแสงที่ไม่เพียงพอหรือมากจนเกินไป

การได้รับแสงที่ไม่เพียงพอ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดอกหน้าวัวที่ออกมาใหม่ กลายเป็นสีเขียวแทนที่จะเป็นสีสันที่สดใสตรงตามสายพันธุ์ วิธีแก้ไขสามารถทำได้โดยการเปลี่ยนสถานที่จัดวางให้มีความสว่างมากขึ้น (อาจจะวางใกล้หน้าต่างมากขึ้น แต่ไม่โดนแดดโดยตรงนะคะ) เพื่อให้ต้นหน้าวัวของเราได้รับแสงอย่างเพียงพอค่ะ

อย่างไรก็ตามหากหน้าวัวได้รับแสงที่มากจนเกินไป ก็อาจทำให้สีของดอกซีดลงได้ด้วยนะคะ กรณีนี้มักพบในหน้าวัวที่ปลูกเลี้ยงภายนอกอาคารค่ะ

4. ต้นหน้าวัวขาดความสมบูรณ์

การที่ดอกหน้าวัวที่ออกใหม่กลายเป็นสีเขียว มักเกิดมาจากการที่ต้นแม่ออกดอกในขณะที่ต้นยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่ต้นหน้าวัวถูกเลี้ยงในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน หรือมีระยะพักตัวน้อยก่อนที่จะออกดอกใหม่ค่ะ วิธีแก้ไขสามารถทำได้โดยการเปลี่ยนสถานที่จัดวางให้มีความเหมาะสมทั้งในด้านแสง, อุณหภูมิ, และความชื้นของวัสดุปลูก และเว้นการให้ปุ๋ยเร่งดอกแก่ต้นหน้าวัวชั่วคราว (สามารถให้ปุ๋ยบำรุงสูตรเสมอแบบทั่วไปแทนได้ค่ะ) เพื่อให้ต้นหน้าวัวได้มีระยะพักตัวเพื่อสะสมสารอาหารก่อนที่จะออกดอกใหม่ค่ะ


มาถึงตอนนี้ ทุกท่านคงพอจะทราบแล้วว่ามีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้สีสันของดอกหน้าวัวมีการเปลี่ยนแปลง หวังว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางให้ทุกท่านได้นำไปปรับใช้กับการปลูกเลี้ยงหน้าวัว เพื่อให้ดอกหน้าวัวมีสีสันที่สดใสไปนานๆนะคะ แล้วพบกันใหม่กับบทความหน้าค่ะ


แชร์หน้านี้
Posted by Ornusa Ongsuwan in การดูแลต้นไม้
การดูแล ไฮเดรนเยีย (Hydrangea Growing Guide)

การดูแล ไฮเดรนเยีย (Hydrangea Growing Guide)

ไฮเดรนเยีย (Hydrangea macrophylla) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในพื้นที่เอเซียตะวันออก (ญี่ปุ่น จีน เกาหลี) ก่อนที่จะแพร่กระจายออกไปในพื้นที่อื่นๆทั่วโลกทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกา โดยธรรมชาติเป็นไม้พุ่มที่อาจมีความสูงได้ถึง 2 เมตร แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีขนาดที่กระทัดรัด เพื่อให้สามารถปลูกเลี้ยงเป็นไม้กระถางได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ผลิตภัณฑ์ไม้กระถางไฮเดรนเยีย โดย สวนเกษตร 32 ใช้สายพันธุ์ที่พัฒนาเพื่อใช้เป็นไม้กระถางโดยเฉพาะ จึงมีขนาดต้นที่เหมาะสมสำหรับการตกแต่งภายในอาคารหรือบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด

ไฮเดรนเยีย

เน้นแสงร่มรำไร

  • ปลูกเลี้ยงในบริเวณที่มีแสงร่มรำไร
  • อาจจะโดนแดดส่องโดยตรงได้บ้าง แต่ไม่ควรให้ถูกแดดจัดเป็นเวลานาน
  • Grow in the shade without prolonged direct sunlight

ปลูกเลี้ยงได้ในช่วงอุณหภูมิที่กว้างขึ้น

  • ไฮเดรนเยีย จาก สวนเกษตร 32 เป็นสายพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ในเขตอากาศอบอุ่น
  • อุณหภูมิที่เหมาะสม: 20~30 °C
  • ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ: ประมาณ 70%
  • Recommended Temperature: 20~30 °C (68~86 °F)
  • Relative Humidity: Approx. 70%

การให้ปุ๋ย ไฮเดรนเยีย

  • หากต้องการให้ปุ๋ย อาจให้ทุกๆ 1-2 เดือน/ครั้ง
  • ชนิดของปุ๋ย ควรใช้เป็นปุ๋ยเม็ดละลายช้า
  • ข้อมูล/ปริมาณการใช้ปุ๋ย สามารถศึกษาได้จากบนฉลากของปุ๋ยที่ใช้
  • Fertilize the plant once every a month or two
  • Slow-release fertilizer is preferred
  • Apply with the amount recommended by your selected fertilizers

การรดน้ำ ไฮเดรนเยีย

  • ควรรดน้าวันละ 1 ครั้ง (ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)
  • ไม่ควรปล่อยให้วัสดุปลูกแห้งสนิทจนเกินไป
  • Water the plant once a day (adaptable, subjected to climate condition)
  • Growing media must not be completely dry between watering

ข้อแนะนำอื่นๆ

  • ห้ามปล่อยให้มีน้าขังในจานรองกระถาง (ควรเทน้ำส่วนเกินในจานรองออกทุกครั้ง หลังการรดน้ำ)
  • ในระหว่างการรดน้ำ ควรระวังอย่าให้ดอกไม้เปียกน้ำ
  • หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสวนฯได้ที่ LINE ID: @kaset32farm
  • Never let residue water sit in the saucer after watering
  • Please be careful not to wet the flowers during watering
  • Feel free to let us know, if you have any further inquiry: Contact Us

แชร์หน้านี้
Posted by Pete Ongsuwan in การดูแลต้นไม้
7 คำแนะนำ การดูแล หน้าวัวกระถาง

7 คำแนะนำ การดูแล หน้าวัวกระถาง

หน้าวัวกระถาง ดูแลยังไงดี?

การดูแล หน้าวัวกระถาง สำหรับใครที่เลี้ยง หน้าวัวกระถาง ในบ้าน เรามีวิธีดูแลต้นหน้าวัวให้สวยงามไปนานๆมาฝากค่ะ

1. ตั้งวางในที่มีแสงรำไร

ควรวางในที่มีแสงรำไร
ไม่มีแดดจัดจนเกินไป หรืออยู่ในร่มจนเกินไป

แสงสำหรับหน้าวัว

2. การรดน้ำ

  • รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้าที่บริเวณโคนต้น
  • เลือกใช้น้ำที่ไม่มีคลอรีน เช่น น้ำฝน น้ำดื่ม
  • หากต้องใช้น้ำประปา ให้รองน้ำใส่ภาชนะที่ไม่มีฝาปิด ตั้งทิ้งไว้ 2-3 วันก่อนนำมาใช้
การรดน้ำหน้าวัว

3. การให้ปุ๋ย

  • ใส่ปุ๋ยเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง ประมาณ ครึ่งช้อนชา / กระถางขนาด 7 นิ้ว
  • แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้า
  • ปุ๋ยสูตร 15-7-15, 16-16-16, หรือ 17-17-17 ก็ได้ค่ะ
การให้ปุ๋ยหน้าวัว

4. เพิ่มความชื้น

  • เพิ่มความชื้นในอากาศด้วยการพ่นละอองน้ำ (Foggy)
  • แนะนำให้ฉีดพ่นบริเวณใบ และโคนต้น
  • หลีกเลี่ยงการทำให้ดอกเปียก เนื่องจากอาจทำให้ปลีดอกขึ้นราได้
ความชื้นสำหรับหน้าวัว

5. จานรองกระถาง

  • ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำขังในจานรองกระถางตลอดเวลา
  • เนื่องจากอาจทำให้รากต้นหน้าวัวเน่าได้
จานรองกระถางหน้าวัว

6. การตัดแต่ง

  • ตัดแต่งใบและดอกเก่าที่เหี่ยวออกเป็นประจำ
  • เพื่อสงวนอาหารให้กับใบและดอกใหม่
การตัดแต่งหน้าวัว

7. การย้ายกระถาง

  • ควรย้ายกระถางเมื่อต้นมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • เลือกใช้วัสดุที่โปร่งและระบายน้ำได้ดี ใหม่ สะอาด ปราศจากเชื้อโรค
ย้ายกระถางหน้าวัว

นอกเหนือจาก 7 ข้อแนะนำข้างต้นแล้ว ท่านผู้อ่านยังสามารถดาวน์โหลด เอกสารเพิ่มเติม (PDF) เกี่ยวกับการดูแลต้นหน้าวัวได้อีกด้วย


แชร์หน้านี้
Posted by Ornusa Ongsuwan in การดูแลต้นไม้
การดูแลต้นไม้ในฤดูร้อน

การดูแลต้นไม้ในฤดูร้อน

รดน้ำเมื่อใด ควรรดน้ำเมื่อพบว่าวัสดุปลูกหรือดินเริ่มแห้ง สำหรับไม้กระถาง หากพบว่าวัสดูปลูกยังชุ่มและหนักอยู่ ก็อาจจะเว้นการรดน้ำไปก่อนได้

รดน้ำเวลาไหน ควรรดน้ำช่วงเช้าหรือเย็น หรือในช่วงที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป หากใช้สายยางรดน้ำควรให้แน่ใจว่าน้ำที่ค้างอยู่ในสายยางไม่ร้อน (เช่นกรณีที่สายยางตากแดดมาทั้งวัน) หรืออาจจะเปิดไล่น้ำที่ค้างอยู่ในสายยางออกไปก่อนก็ได้ โดยทั่วไปอาจรดน้ำวันละครั้ง แต่หากพบว่าถ้าวัสดุปลูกหรือดินแห้งมากๆ อาจรดวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น

รดน้ำอย่างไร ควรรดรอบโคนต้นไม้ให้ชุ่มและรดพุ่มใบ ด้วยเพื่อให้ใบพืชซึมซับน้ำ เข้าทาง ปากใบ และลดการคายน้ำ อย่างไรก็ตามกรณีที่เป็นไม้ดอกควรระมัดระวังไม่ให้น้ำไปโดนส่วนของดอกไม้ หลังรดน้ำสายยางควรม้วนเก็บให้เรียบร้อย ไม่ควรวางทับสนามหญ้า เพราะนอกจาก จะดูไม่เรียบร้อย น้ำที่ค้างอยู่ในสายยางที่ตากแดดจัดจะร้อนทำให้หญ้าตายได้

จานรองกระถาง ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำขังที่จานรองตลอดเวลา เพราะอาจจะทำให้รากเน่าได้

การใส่ปุ๋ย สำหรับปุ๋ยเม็ดแนะนำให้ใช้ปุ๋ยละลายช้า อย่าให้เม็ดปุ๋ยติดค้างอยู่ที่ใบและยอด เพราะจะทำให้เกิดอาการใบไหม้ได้ หรืออาจจะให้ปุ๋ยก่อนรดน้ำก็ได้ สำหรับการใส่ปุ๋ยทางใบและฉีดยาฆ่าแมลง ไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่อากาศร้อนจัด จะทำให้ใบไหม้และไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะในช่วงที่อากาศร้อน ปากใบพืชจะปิดเพื่อลดการคายน้ำ

การพรวนดิน พรวนดินให้ร่วนซุยเป็นประจำ เพื่อให้ดินโปร่งและมีช่องว่างในเนื้อดินเพื่อดูดซับน้ำ และช่วยให้น้ำซึมซับลงในดินในระดับที่ลึกกว่าปกติ ถ้าดินแห้งเกินไปอาจใช้วัสดุปลูกมาคลุมแปลงหรือโคนต้น ช่วยดูดซับน้ำ เช่น ขุยมะพร้าว/กาบมะพร้าวสับ เป็นต้น

การตัดแต่งกิ่ง สำหรับไม้ใหญ่ที่ปลูกกลางแจ้ง อาจตัดแต่งกิ่งกระโดง กิ่งเป็นโรค และกิ่งที่ไม่มีความจำเป็น เพื่อลดการคายน้ำของพืช


แชร์หน้านี้
Posted by Pete Ongsuwan in การดูแลต้นไม้
การดูแลไม้กระถางเบื้องต้น

การดูแลไม้กระถางเบื้องต้น

พืชทุกชนิด แม้ว่าจะต้องการ น้ำ แร่ธาตุ แสง และก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ในการสังเคราะแสงเหมือนๆกัน อย่างไรก็ตาม พืชแต่ละชนิด ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน ในการปลูกเลี้ยง และดูแลรักษา ผู้ปลูกทุกท่าน อาจใช้ข้อมูลดังต่อไปนี้ เป็นแนวทางหลัก ในการเลี้ยงดูไม้ดอก ไม้ประดับ เพื่อให้พันธุ์ไม้ของท่าน มีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ


หน้าวัว (Anthurium)

  • แนะนำให้ใช้เครื่องปลูกร่วนโปร่ง เช่น
    พีทมอสหยาบ กาบมะพร้าวสับ เป็นต้น
  • ต้องการแสงร่ม-รำไร ควรพรางแสงประมาณ 50-60% RH
  • ความชื้นปานกลาง รดน้ำวันละครั้ง หรือวันเว้นวัน (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความชื้นในวัสดุปลูก)
  • ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำขังในจานรองกระถาง
  • หากต้องการให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้า สูตร 17-17-17 ในปริมาณ 1-2 กรัม ทุก 1-2 เดือน (กระถาง 7 นิ้ว)

บีโกเนีย (Begonia)

  • เครื่องปลูก ควรเป็นวัสดุร่วนโปร่ง ระบายน้ำได้ดี
  • ต้องการแสงร่ม-รำไร ไม่ควรให้ถูกแสงแดดโดยตรง
  • ควรรดน้ำวันเว้นวัน (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความชื้นในวัสดุปลูก)
  • อย่าปล่อยให้มีน้ำขังในจานรองกระถาง
  • หากต้องการให้ปุ๋ย อาจใช้หลักดังต่อไปนี้
  • รดด้วยปุ๋ยเกร็ดสูตร 20-20-20 (ละลายน้ำในอัตรา ปุ๋ย 1 กรัม ต่อ น้ำ 1 ลิตร) สัปดาห์ละครั้ง
  • หรือ ใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้า สูตร 17-17-17 ในปริมาณ 1 กรัม ทุก 1-2 เดือน

ไซคลาเมน (Cyclamen)

  • เครื่องปลูก ควรเป็นวัสดุร่วนโปร่ง ระบายน้ำได้ดี
  • ต้องการแสงร่ม-รำไร ควรพรางแสงประมาณ 50-60%
  • ควรรดน้ำวันเว้นวัน (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความชื้นในวัสดุปลูก)
  • การรดน้ำ ไม่ควรให้ดินแฉะ เนื่องจากรากและหัวจะเน่า และไม่ควรรดน้ำโดนบริเวณดอกและใบ
  • อย่าปล่อยให้มีน้ำขังในจานรองกระถาง

พืชตระกูลเฟิร์น (Ferns)

  • เครื่องปลูก ควรเป็นวัสดุร่วนโปร่ง ระบายน้ำได้ดี
  • ต้องการแสงร่ม-รำไร ไม่ควรให้ถูกแสงแดดโดยตรง
  • ควรรดน้ำวันละครั้ง หรือวันเว้นวัน ไม่ควรรดจนแฉะ
  • ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำขังในจานรองกระถาง
  • หากต้องการให้ปุ๋ย สำหรับกระถางขนาด 5 นิ้ว อาจใช้หลักดังต่อไปนี้
  • รดด้วยปุ๋ยเกร็ดสูตร 20-20-20 (ละลายน้ำในอัตรา ปุ๋ย 1 กรัม ต่อ น้ำ 1 ลิตร) สัปดาห์ละครั้ง
  • หรือ ใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้า สูตร 17-17-17 ในปริมาณ 1 กรัม ทุก 1-2 เดือน

พืชตระกูลคล้า (Calathea, Ctenanthe, Maranta)

  • เครื่องปลูก ควรเป็นวัสดุร่วนโปร่ง ระบายน้ำได้ดี
  • ต้องการแสงร่ม-รำไร
  • ควรรดน้ำวันละครั้ง วันเว้นวัน ไม่ควรรดจนแฉะ
  • ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำขังในจานรองกระถาง
  • การให้ปุ๋ย สามารถใช้หลักเช่นเดียวกับพืชตระกูลเฟิร์น

พืชตระกูลอโลคาเซีย, โคโลคาเซีย (Alocasia, Colocasia)

  • เครื่องปลูก ควรเป็นวัสดุร่วนโปร่ง ระบายน้ำได้ดี
  • ต้องการแสงร่ม-รำไร
  • ความชื้นปานกลาง ไม่ควรให้แฉะมาก
  • ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำขังในจานรองกระถาง
  • อุณหภูมิที่เหมาะสม ประมาณ 20-35 องศาเซลเซียส
  • การให้ปุ๋ย สามารถใช้หลักเช่นเดียวกับพืชตระกูลเฟิร์น

รายละเอียดข้างต้นเป็นเพียงแนวทางในการดูแล ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมที่ต้นไม้อาศัยอยู่
ดังนั้นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ปลูกต้องหมั่นสังเกตุอาการของไม้กระถางไปด้วย
เช่น หากเป็นช่วงที่ฝนตกบ่อย ความชื้นในอากาศสูง วัสดุปลูกยังชื้นอยู่ ก็อาจงดการรดน้ำไปก่อนได้ค่ะ

นอกจากไม้กระถางตามรายการข้างต้นแล้ว
สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการดูแลไม้กระถางอื่นๆได้จาก Tag นี้ค่ะ
https://www.kaset32farm.com/tag/การดูแลไม้กระถาง/


แชร์หน้านี้
Posted by Pete Ongsuwan in การดูแลต้นไม้