Plant Care

หน้าวัวกระถาง ควรให้ปุ๋ยเมื่อไหร่ และให้อย่างไร

หน้าวัวกระถาง ควรให้ปุ๋ยเมื่อไหร่ และให้อย่างไร

ปุ๋ยหน้าวัว ให้เมื่อไหร่!? ให้อย่างไร!?

หน้าวัว ไม้ดอกเขตร้อนซึ่งมีส่วนของฐานรองดอกที่มีสีสันสวยงาม ใบหนาและมีลักษณะเงามัน ดอกเมื่อบานแล้วมักจะอยู่ทนนานร่วมหลายเดือน สื่อถึงมิตรภาพที่มั่นคงยืนยาว จึงมักถูกเลือกใช้ให้เป็นไม้ประดับตกแต่งบริเวณบ้าน และเป็นของขวัญ-ของฝากในโอกาศพิเศษ ในปัจจุบันมีการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้สีของดอกมีความหลากหลายมากขึ้น และปรับปรุงเพื่อให้ต้นมีขนาดที่มีความกระทัดรัดเหมาะแก่การปลูกในกระถางเพื่อตกแต่งภายในบ้าน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “หน้าวัวกระถาง” นั่นเองค่ะ

ต้นหน้าวัวเป็นพืชในป่าเขตร้อนชื้น ตามธรรมชาติแล้วเป็นพืชอิงอาศัยใต้ร่มไม้ที่เติบโตและใช้สารอาหารจากเปลือกไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ผุในบริเวณที่อาศัยอยู่ และเนื่องจากเป็นพืชที่เติบโตได้ช้าหน้าวัวจึงมักจะไม่ได้ต้องการธาตุอาหารมากนัก อย่างไรก็ตามหน้าวัวตกแต่งบ้านที่ปลูกเลี้ยงในกระถางจะมีพื้นที่ของกระถางและปริมาณของวัสดุปลูกที่จำกัดจึงต้องมีการเติมปุ๋ยเพื่อคงแร่ธาตุในดินเพื่อให้ต้นหน้าวัวของเราคงความแข็งแรง-ทนต่อโรคและแมลง และยังคงความสวยงามของดอกและใบอีกด้วยค่ะ

จะเกิดอะไรขึ้นหากหน้าวัวขาดสารอาหาร?

สัญญานที่บ่งบอกถึงการขาดธาตุอาหารของต้นหน้าวัวได้แก่ ใบมีสีซีดซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่โดนแดดโดยตรง หรือแดดจัดจนเกินไป อย่างไรก็ตามหากต้นหน้าวัวที่เราเลี้ยงมีลักษณะใบซีดทั้งที่อยู่ในที่มีแสงรำไรอย่างเหมาะสม นั่นอาจเป็นสัญญานหนึ่งของการขาดธาตุอาหารค่ะ นอกจากนี้ยังมีสัญญานอื่นๆเพิ่มเติมเช่น สีของดอกซีด-ไม่สดใส ดอกเล็ก หรือไม่ยอมมีดอกใหม่เพิ่มทั้งๆที่ไม่ใช่ช่วงพักตัว เป็นต้นค่ะ

เราควรให้ปุ๋ยอย่างไร และบ่อยแค่ไหน?

การให้ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นควรให้ทุกๆ 4-6 สัปดาห์ในช่วงหน้าร้อนและหน้าฝนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หน้าวัวกำลังเติบโต ร่วมกับการตัดแต่งกิ่ง-ใบ หรือการย้ายกระถางเพื่อกระตุ้นให้หน้าวัวได้ออกดอกและใบใหม่ และสำหรับในช่วงหน้าหนาวที่อากาศเย็นลง ต้นหน้าวัวจะมีการเติบโตที่ช้าลง(พักตัว)ได้บ้าง ในช่วงนี้ควรจะเว้นการให้ปุ๋ยไปก่อนค่ะ

โดยใช้ปุ๋ยที่มีสูตรเสมอของธาตุ N-P-K เช่นสูตร 16-16-16 เพื่อบำรุงต้นหน้าวัวในทุกๆด้าน อย่างไรก็ตามเนื่องจากหน้าวัวเป็นพืชที่ไม่ต้องการปุ๋ยมากนัก การให้ปุ๋ยที่เข้มข้นมากเกินไปจะทำให้ดินเค็มซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อต้นหน้าวัวได้ หากเลือกใช้ปุ๋ยน้ำเราจึงควรที่จะเจือจางลงกว่าอัตราปกติให้เหลือเพียง 1 ใน 4 เท่า หรือหากเลือกใช้ปุ๋ยเม็ดแบบละลายช้าก็ควรให้ปุ๋ยทุก 2-3 เดือน และโรยในปริมาณน้อยๆก่อนค่ะ

และหากหน้าวัวไม่ยอมมีดอกใหม่เพิ่ม หรือดอกมีสีสันที่ไม่สดใส ผู้ปลูกเลี้ยงก็สามารถสลับมาใช้ปุ๋ยที่มีอัตราส่วนของค่าโพแทสเซียม(P)สูงกว่าค่าอื่นๆควบคู่ไปด้วยเพื่อกระตุ้นการออกดอกและบำรุงดอก เช่นสูตร 8-24-24 หรือ 12-24-12

โดยวิธีการให้ปุ๋ย ควรให้ 1 วันหลังจากวันที่เราทำการรดน้ำต้นหน้าวัวตามปรกติ โดยค่อยๆรดปุ๋ยน้ำเจือจางที่เราเตรียมไว้ลงบนหน้าดินให้ทั่วจนกระทั่งน้ำทะลุผ่านรูระบายน้ำบริเวณก้นกระถางออกไป และหากมีจานรองกระถางให้เทน้ำปุ๋ยทิ้งไปอย่าให้มีน้ำปุ๋ยขังที่จานรองกระถางนะคะ

การให้ปุ๋ยหน้าวัวที่มากเกินไปจะส่งผลอย่างไร

การให้ปุ๋ยที่มากเกินไปไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อต้นหน้าวัว ปุ๋ยที่เข้มข้นมากเกินไปจะส่งผลให้ดินเค็มจะทำให้ต้นหน้าวัวมีอาการใบเหลือง ใบไหม้ ใบหลุดร่วง ก้านใบแคระแกรน อาจทำให้รากเน่า และตายได้ หากผู้ปลูกเลี้ยงให้ปุ๋ยหน้าวัวมากเกินไป สามารถแก้ไขและบรรเทาได้โดยการใช้น้ำสะอาดรดค่อยๆรดที่หน้าดินจนกระทั่งน้ำไหลผ่านก้นกระถางทิ้งไป ทำช้าๆ และทำซ้ำประมาณ 4-5 ครั้ง น้ำสะอาดจะช่วยชะล้างและนำพาแร่ธาตุส่วนเกินออกมาค่ะ

 

เห็นไหมคะว่าการดูแลต้นหน้าวัวให้คงความสวยงามไม่ใช่เรื่องยาก หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้ทราบและเข้าใจถึงวิธีการให้ปุ๋ยแก่ต้นหน้าวัว เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปดูแลหน้าวัวที่บ้านให้มีความสวยงาม สดใส อยู่คู่กับเราไปนานๆค่ะ


แชร์หน้านี้
Posted by Pete Ongsuwan in การดูแลต้นไม้
ฤดูฝน!? ดูแลไม้กระถางอย่างไร

ฤดูฝน!? ดูแลไม้กระถางอย่างไร

6 เคล็ดลับ การดูแลไม้กระถางในฤดูฝน

ฤดูฝนจัดเป็นฤดูแห่งการเติบโตและเจริญงอกงามของพืช นอกจากปริมาณน้ำฝนและความชื้นในอากาศที่เพิ่มขึ้น อุณหภูมิที่ไม่ร้อนจนเกินไปยังมีส่วนช่วยให้ต้นไม้ชุ่มชื่น เขียวขจี และดูมีชีวิตชีวาเป็นพิเศษ นอกจากสภาพอากาศที่แตกต่างจากฤดูอื่นๆแล้ว ท่านทราบหรือไม่ว่า วิธีการปลูกเลี้ยงและดูแลไม้กระถางในฤดูฝนก็มีความแตกต่างเช่นกัน ในวันนี้ทาง สวนเกษตร 32 นำเคล็ดลับในการดูแลไม้กระถางในช่วงหน้าฝนมาฝากค่ะ

ตรวจสอบบริเวณที่วางกระถาง

ผู้ปลูกเลี้ยงควรตรวจสอบบริเวณที่วางกระถาง เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในจุดที่ไม่โดนลมแรงและไม่โดนฝนสาด เพื่อป้องกันต้นไม้ล้มและหักจากลมแรงหรือความเสียหายจากการที่หน้าดินถูกน้ำฝนในปริมาณมากชะล้าง อีกทั้งยังต้องแน่ใจว่าบริเวณนั้นๆมีแสงสว่างที่เพียงพอต่อต้นไม้ของเราด้วยค่ะ

หมั่นเช็คความชื้นของดินก่อนทำการรดน้ำ

โดยปรกติแล้วเราอาจได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับความถี่ในการรดน้ำต้นไม้จากพ่อค้าแม่ค้า อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูฝนจะมีความชื้นภายในอากาศอยู่มากทำให้ดินหรือวัสดุปลูกแห้งช้ากว่าฤดูอื่นๆ ผู้ปลูกเลี้ยงจึงควรที่จะตรวจเช็คความชื้นของดินก่อนทำการรดน้ำทุกครั้ง หากพบว่าผิวหน้าดินยังมีความชื้นแฉะอยู่มากอาจเว้นระยะเวลาในการให้น้ำให้นานขึ้นหรือรดแต่น้อยเพื่อไม่ให้ต้นไม้ของเราได้รับน้ำมากเกินไปจนอาจเกิดปัญหารากเน่าตามมาในภายหลังได้ค่ะ

กระถางที่เลือกใช้ควรมีรูระบายน้ำที่เพียงพอ

หากพบว่าดินหรือวัสดุปลูกในกระถางมีน้ำขังชุ่มเป็นเวลานาน ควรตรวจสอบว่ากระถางที่ใช้มีรูระบายน้ำมากพอหรือไม่ หากมีรูระบายน้ำน้อยผู้ปลูกอาจพิจารณาเปลี่ยนกระถาง และในกรณีที่มีจานรองกระถางควรหมั่นเทน้ำที่ขังในจานรองทิ้งไปค่ะ

พรวนดินด้านบนกระถาง

หากพบว่าผิวดินด้านบนกระถางอัดแน่นหรือมีพืชในกลุ่มมอสปกคลุมที่ผิวดิน ควรทำการพรวนดินด้านบนเพื่อเพิ่มความโปร่ง ร่วนซุยให้น้ำและอากาศไหลผ่านได้ดี อย่างไรก็ตามควรทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้รากของพืชเสียหายค่ะ

การให้ปุ๋ย

ในช่วงฤดูฝน ไม้กระถางที่ปลูกเลี้ยงภายนอกบ้านมีโอกาสที่จะได้รับน้ำฝนปริมาณมาก ซึ่งน้ำฝนเหล่านี้จะทำหน้าที่ชะล้างแร่ธาตุในดินออกไป ผู้ปลูกเลี้ยงสามารถเลือกใช้ปุ๋ยชนิดเม็ดแบบละลายช้าเพื่อป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารในดิน และนอกจากนี้ยังสามารถเลือกใช้ปุ๋ยชนิดพ่นทางใบเพื่อที่พืชจะได้ดูดซึมและนำไปใช้ได้ทันทีค่ะ

ไม่ลืมที่จำกำจัดเชื้อราและศัตรูพืช

ปัญหาของการปลูกพืชที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝนที่มีความชื้นมากมักมีสาเหตุมาจากเชื้อรา หนอน หอยทาก และแมลง ผู้ปลูกเลี้ยงจึงควรหมั่นสังเกตุหากพบศัตรูพืช ควรรีบกำจัดเพื่อป้องกันการลุกลามค่ะ

หากพบว่าใบไหม้มีลักษณะเป็นวงเว้าเข้าไปในบริเวณปลายใบหรือขอบใบ หรือพบยอดเน่า ต้นเน่า นั่นอาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงปัญหาเกี่ยวกับเชื้อราในพืช ผู้ปลูกเลี้ยงสามารถเลือกใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาซึ่งเป็นเชื้อราชนิดดี ที่จะช่วยทำลายเชื้อราก่อโรค และเพิ่มความแข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคให้แก่พืชของเราค่ะ (เชื้อไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อที่ไม่มีอันตรายต่อคนและสัตว์ จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดสารพิษค่ะ)

หากพบแมลงศัตรูพืช เบื้องต้นถ้ามีจำนวนไม่มากสามารถใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำผสมสบู่เหลวหรือน้ำยาล้างจานอ่อนๆ เช็ดที่บริเวณหน้าใบและหลังใบให้ทั่ว ทำซ้ำทุกๆ 4-6 วันติดต่อกัน 3-4 ครั้งจนกว่าแมลงที่กำจัดจะหมดไปค่ะ หรือหากพบแมลงในจำนวนมากสามารถเลือกใช้น้ำส้มควันไม้ผสมน้ำฉีดพ่นที่ใบและลำต้นเพื่อไล่แมลงได้เช่นกันค่ะ (วิธีการใช้และอัตราการผสมขึ้นอยู่กับคำแนะนำของผู้จำหน่ายค่ะ)

หากพบหนอนและหอยทากควรรีบกำจัดโดยการจับไปทิ้งเพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวน

เห็นไหมคะว่าการปลูกเลี้ยงต้นไม้ในหน้าฝนให้สวยงามเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไปเพียงแค่เรานำเคล็ดลับต่างๆเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ หวังว่าทุกๆท่านจะมีความสุขกับการดูแลต้นไม้และทำสวนในฤดูฝนนี้นะคะ สำหรับวันนี้แอดมินต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่กับบทความหน้าค่ะ


แชร์หน้านี้
Posted by Pete Ongsuwan in การดูแลต้นไม้
การดูแลต้นไม้ในฤดูร้อน

การดูแลต้นไม้ในฤดูร้อน

รดน้ำเมื่อใด ควรรดน้ำเมื่อพบว่าวัสดุปลูกหรือดินเริ่มแห้ง สำหรับไม้กระถาง หากพบว่าวัสดูปลูกยังชุ่มและหนักอยู่ ก็อาจจะเว้นการรดน้ำไปก่อนได้

รดน้ำเวลาไหน ควรรดน้ำช่วงเช้าหรือเย็น หรือในช่วงที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป หากใช้สายยางรดน้ำควรให้แน่ใจว่าน้ำที่ค้างอยู่ในสายยางไม่ร้อน (เช่นกรณีที่สายยางตากแดดมาทั้งวัน) หรืออาจจะเปิดไล่น้ำที่ค้างอยู่ในสายยางออกไปก่อนก็ได้ โดยทั่วไปอาจรดน้ำวันละครั้ง แต่หากพบว่าถ้าวัสดุปลูกหรือดินแห้งมากๆ อาจรดวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น

รดน้ำอย่างไร ควรรดรอบโคนต้นไม้ให้ชุ่มและรดพุ่มใบ ด้วยเพื่อให้ใบพืชซึมซับน้ำ เข้าทาง ปากใบ และลดการคายน้ำ อย่างไรก็ตามกรณีที่เป็นไม้ดอกควรระมัดระวังไม่ให้น้ำไปโดนส่วนของดอกไม้ หลังรดน้ำสายยางควรม้วนเก็บให้เรียบร้อย ไม่ควรวางทับสนามหญ้า เพราะนอกจาก จะดูไม่เรียบร้อย น้ำที่ค้างอยู่ในสายยางที่ตากแดดจัดจะร้อนทำให้หญ้าตายได้

จานรองกระถาง ไม่ควรปล่อยให้มีน้ำขังที่จานรองตลอดเวลา เพราะอาจจะทำให้รากเน่าได้

การใส่ปุ๋ย สำหรับปุ๋ยเม็ดแนะนำให้ใช้ปุ๋ยละลายช้า อย่าให้เม็ดปุ๋ยติดค้างอยู่ที่ใบและยอด เพราะจะทำให้เกิดอาการใบไหม้ได้ หรืออาจจะให้ปุ๋ยก่อนรดน้ำก็ได้ สำหรับการใส่ปุ๋ยทางใบและฉีดยาฆ่าแมลง ไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่อากาศร้อนจัด จะทำให้ใบไหม้และไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะในช่วงที่อากาศร้อน ปากใบพืชจะปิดเพื่อลดการคายน้ำ

การพรวนดิน พรวนดินให้ร่วนซุยเป็นประจำ เพื่อให้ดินโปร่งและมีช่องว่างในเนื้อดินเพื่อดูดซับน้ำ และช่วยให้น้ำซึมซับลงในดินในระดับที่ลึกกว่าปกติ ถ้าดินแห้งเกินไปอาจใช้วัสดุปลูกมาคลุมแปลงหรือโคนต้น ช่วยดูดซับน้ำ เช่น ขุยมะพร้าว/กาบมะพร้าวสับ เป็นต้น

การตัดแต่งกิ่ง สำหรับไม้ใหญ่ที่ปลูกกลางแจ้ง อาจตัดแต่งกิ่งกระโดง กิ่งเป็นโรค และกิ่งที่ไม่มีความจำเป็น เพื่อลดการคายน้ำของพืช


แชร์หน้านี้
Posted by Pete Ongsuwan in การดูแลต้นไม้